ดูหนังฝรั่งเศสเรื่อง Heading South (Vers le sud) แล้วให้นึกถึงหนังที่ได้ดูช่วงปีที่ผ่านมาอีก 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งคือ The House of Sand (Casa de Areia) หนังบราซิลของ แอนดรูชา แวดดิงตัน กับ The White Masai (Die Weisse Massai) ของ แฮร์มิเนอ ฮุนท์เกบวร์ท จากเยอรมนี โดยทั้ง 3 เรื่อง ออกฉายในปีเดียวกันคือปี 2005
เหตุที่ชวนให้นึกถึงคือ หนังจากต่างชาติต่างภาษา 3 เรื่องนี้ ล้วนแต่เล่าเรื่องราวของตัวละครหญิงผิวขาวที่เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชายหนุ่มผิวสีในดินแดนของฝ่ายชาย
ใน The House of Sand หม้ายสาวผิวขาวหลงค้างในดินแดนทรายสีขาวแห่งบราซิล ต้องดิ้นรนเอาชีวิตตนเองกับลูกเล็กๆ ให้รอด เธอยินยอมรับความช่วยเหลือจากชายชาวพื้นเมือง กระทั่งเข้าไปเป็นครอบครัวเดียวกับเขา(อ่านเพิ่มเติมใน “The House of Sand สัมพัทธภาพวิมานทราย” ฉบับวันที่ 5 มีนาคม 2549)
The White Masai หลังจากเดินทางไปท่องเที่ยวที่เคนยา สาวชาวสวิตเซอร์แลนด์ตัดสินใจทิ้งแฟนหนุ่มไปใช้ชีวิตอยู่กับหนุ่มนักรบชาวเผ่ามาไซในเขตป่าที่สงวนไว้สำหรับชนดั้งเดิม
ส่วน Heading South เกี่ยวกับกลุ่มหญิงวัยกลางคนชาวอเมริกันไปเที่ยวหาความสำราญยังชายหาดแห่งเฮติ โดยโปรแกรมหลักของทริปนี้คือการจ้างหนุ่มท้องถิ่นรุ่นกระทงไว้เป็นเพื่อนข้างกาย
นอกจากจะว่าด้วยตัวละครหญิงผิวขาวมีปฏิสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชายหนุ่มผิวสีในดินแดนของฝ่ายชายดังที่กล่าวแล้ว หนังทั้ง 3 เรื่อง ได้แสดงให้เห็นว่าฝ่ายหญิงต่างพึงพอใจไปจนถึงขั้นหลงใหลในเพศรสที่ได้รับ โดยชายหนุ่มผิวสีซึ่งต่างเป็นคนท้องถิ่นล้วนแต่มีร่างกายกำยำแข็งแรง และมอบความสุขในแบบที่หญิงสาวไม่เคยได้รับมาก่อน
ฉากอัศจรรย์ที่แสดงถึงชั่วขณะแห่งอารมณ์เปี่ยมสุขของฝ่ายหญิงจึงขาดไม่ได้ในหนังกลุ่มนี้
ข้อสังเกตคือ นี่ไม่ใช่เรื่องรักระหว่างหญิงผิวขาวกับชายผิวสีอันเป็นพล็อตว่าด้วย “รักต้องห้าม” เช่นที่เห็นในหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง Save the Last Dance (โธมัส คาร์เตอร์-2001) และ Far from Heaven (ท็อด เฮย์นส์-2002) ทั้งยังมีตัวอย่างคู่รักแบบนี้ในหนังอีกหลายเรื่อง เช่น คู่ตัวละครใน Cruel Intentions (โรเจอร์ คัมเบิล-1999) ซึ่งพล็อตหรือคู่ตัวละครดังกล่าวได้ขยับขึ้นมาเป็นเรื่องราวที่ “รับได้” ในสังคมปัจจุบัน จากที่เคยเป็นเรื่องชั่วร้ายต้องห้ามที่ไม่มีทางได้ปรากฏบนจอภาพยนตร์เมื่อครั้งอดีต
แต่หนัง 3 เรื่อง ข้างต้นไปไกลกว่าด้วยการกล่าวถึง “ความใคร่” ที่ฝ่ายหญิงพึงพอใจ แม้ไม่ใช่เป้าหมายแรกของความสัมพันธ์ระหว่างเธอและเขาก็ตาม โดยเฉพาะ Heading South ไปไกลที่สุดด้วยการให้ฝ่ายหญิงตั้งใจจับจ่ายซื้อความสุขจากชายหนุ่มผิวสี
ถ้าเป็นเมื่อก่อน เรื่องลักษณะนี้ย่อมเป็นสิ่งน่าอายเกินกว่าจะนำเสนอ เป็นสิ่งต้องห้ามที่ผู้สร้างต้องถูกประณามหยามหมิ่น แต่ในโลกปัจจุบันที่สิทธิสตรีถูกยกระดับ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศลดน้อยลง เสรีภาพในการแสดงออกมีมาก ช่องทางจึงเปิดกว้างจนแทบจะเป็นทางสะดวก
ที่สำคัญคือ หนังทั้ง 3 เรื่อง ไม่ใช่หนังฮอลลีวู้ด แต่เป็นหนังจากประเทศยุโรปที่มีขอบเขตในการนำเสนอกว้างขวางภายใต้รูปแบบของการสร้างงานศิลปะ หรือในส่วนของ The House of Sand ซึ่งเป็นหนังบราซิลก็สร้างขึ้นเพื่อป้อนตลาดยุโรปหรือตลาดหนังอาร์ต เรื่องราวลักษณะนี้จึงไม่ใช่ความผิดแปลกเท่าใดนัก
อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ การที่หนังกำหนดโดยตรงให้ตัวละครหญิงผิวขาวเข้าไปในดินแดนของตัวละครชายชาวท้องถิ่น ได้พบกับเรื่องราวและประสบการณ์แปลกใหม่ ทั้งยังตื่นตะลึงในเพศรสที่ไม่เคยสัมผัส โดยที่ดินแดนของฝ่ายชายล้วนแต่เป็นพื้นที่เฉพาะซึ่งไม่อาจเข้าไปได้โดยง่าย ดังเช่นดินแดนทรายสีขาวอันมีสภาพแห้งแล้งตัดขาดจากโลกภายนอกใน The House of Sand เขตสงวนสำหรับชนดั้งเดิมในป่าเคนยาใน The White Masai และบ้านเมืองภายใต้เผด็จการทหารช่วงปลายทศวรรษ 70 ของเฮติใน Heading South
ดินแดนดังกล่าวนอกจากจะทำให้ตัวละครตื่นเต้น-ตื่นตระหนกไปกับสิ่งที่ได้พบเจอแล้ว ภาพและเรื่องราวที่นำเสนอได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดินแดนที่ปรากฏในหนังต่างมีสภาพป่าเถื่อน ล้าหลัง ไปจนถึงไร้อารยธรรมตามบรรทัดฐานของโลกอารยะ ความแปลกประหลาดหรือที่เรียกว่าอาการ “เอ็กโซติก” ที่เกิดขึ้นต่อผู้ชมจึงเสมือนโปรแกรมทัวร์ที่แถมมากับภาพยนตร์
ในเมื่อหนังถ่ายทอดผ่านมุมมองหรือเรื่องราวของตัวละครหญิงผิวขาวเป็นหลัก ตัวละครดังกล่าวจึงเหมือนเป็นตัวแทนของผู้ชมในโลกที่หนังเรื่องนั้นๆ สามารถเดินทางไปถึง(แน่นอนว่าไม่ใช่ดินแดนแบบในหนัง) ขณะเดียวกัน แม้จะถูกหยิบยกมานำเสนอ แต่ฐานะของผู้คนหรือสถานที่ล้าหลังดั้งเดิมนั้นไม่ได้ถูกยกระดับขึ้นมาแต่อย่างใด หากเป็นเพียงสิ่งที่สร้างความตื่นเต้นหวือหวาชั่วครั้งคราวเช่นที่ตัวละครหญิงได้รับสัมผัสในเพศรสนั่นเอง
ข้อสังเกตสุดท้าย…เห็นได้ว่าหนังทั้ง 3 เรื่อง เกี่ยวข้องกับสถานภาพของชาติอาณานิคมและเจ้าอาณานิคมในอดีต ทั้งในส่วนของเนื้อหาและงานสร้าง เริ่มจาก The White Masai เป็นเรื่องของสาวชาวสวิสก็จริง แต่ผู้กำกับฯเป็นชาวเยอรมัน และเคนยาคืออดีตอาณานิคมของเยอรมนีตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19
Heading South ใช้ฉากประเทศเฮติซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยผู้กำกับฯเรื่องนี้เป็นชาวฝรั่งเศส ขณะที่ตัวละครเป็นหญิงวัยกลางคนชาวอเมริกันไปหาความสำราญที่เฮติ เมื่อเปิดประวัติศาสตร์ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จะพบว่าสหรัฐอเมริกาเคยยึดครองเฮติตั้งแต่ปี 1915-1934
สำหรับ The House of Sand อาจจะไม่ชัดเจนเท่า 2 เรื่องแรก แต่นี่คือหนังบราซิลจากฝีมือผู้กำกับฯผิวขาวที่เกิดในบราซิล แม้จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าเขามีเชื้อสายโปรตุเกสซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของบราซิลหรือไม่ (หรืออาจเป็นชาวอังกฤษที่เข้ามามีบทบาทช่วงหนึ่ง) แต่ที่แน่นอนคือเขาไม่ใช่ชนพื้นเมือง
ข้อสันนิษฐานคือ การที่ชาวผิวขาวอดีตเจ้าอาณานิคมหยิบเรื่องราวเอ็กโซติกของดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมมาสร้างเป็นหนัง โดยที่ผู้คนและดินแดนนั้นๆ ยังอยู่ในฐานะด้อยกว่า ถือเป็นการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าอาณานิคมที่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดความรู้สึกของชาวตะวันตกผิวขาวหรือไม่